Cryptocurrency กลายเป็นกระแสบูมขึ้นทั่วโลกในช่วง 2 - 3 ปีที่ผ่านมา และเป็นที่จับตาจากผู้คนหลากหลาย

12 July 2024

Cryptocurrency กลายเป็นกระแสบูมขึ้นทั่วโลกในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา และเป็นที่จับตาจากผู้คนหลากหลายวงการว่าจะเติบโตไปในทิศทางใด พร้อมกับตั้งคำถามถึงหลายประเด็น โดยเฉพาะเรื่องของความปลอดภัยและความเป็นเจ้าของในสินทรัพย์ดิจิทัลเหล่านี้

หากติดตามวงการ Cryptocurrency อย่างต่อเนื่อง นอกจากคำศัพท์อย่าง Bitcoin, Ethereum หรือ Smart Contract ที่คุ้นหูแล้ว คำว่า Web 3.0 ก็เป็นอีกคำที่ได้ยินกันบ่อย ๆ ว่ามันกำลังจะเข้ามาเปลี่ยนโฉมเทคโนโลยีการท่องโลกอินเทอร์เน็ตในระดับบุคคล และยังจะเข้ามาเป็นตัวเสริมความแข็งแกร่งของ Cryptocurrency ได้ในอนาคต แล้ว Web 3.0 คืออะไร?

เทคโนโลยีเว็บและระบบอินเทอร์เน็ตได้มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง จากเทคโนโลยี Web 1.0 ที่มีลักษณะแบบ Static Web ที่ผู้ใช้สามารถอ่านคอนเทนต์ได้เพียงอย่างเดียวจากเว็บไซต์ มาสู่ยุค Web 2.0 ที่ผู้ใช้สามารถอ่านและสร้างคอนเทนต์ของตัวเองได้แบบ Dynamic Web รวมทั้งสามารถเชื่อมโยงหรือสร้างเครือข่ายสังคมในโลกออนไลน์ขึ้นเองได้จนเป็นที่มาของยุคแห่ง อี-คอมเมิร์ซ และ โซเชียลมีเดีย ซึ่ง Tim Berners-Lee บิดาแห่ง World Wide Web เคยให้นิยามว่า Web 3.0 จะมีลักษณะเป็น Semantic Web ที่การถ่ายโอนข้อมูลระหว่างคนและอุปกรณ์จะเป็นแบบอัตโนมัติ และจะเป็นเครือข่ายอินเทอร์เน็ตแบบกระจายศูนย์ (Decentralize) ซึ่งหมายความว่าจะไม่มีโอกาสที่ระบบทั้งหมดล่มจากจุดบกพร่องเพียงจุดเดียว (Single Point of Failure) รวมถึงไม่มีตัวกลางหนึ่งใดที่คอยควบคุมข้อมูลอีกต่อไป

Web 3.0 คือยุคที่ผู้ใช้แต่ละคนจะมีอิสระในการควบคุมข้อมูลของตัวเองในการใช้อินเทอร์เน็ต จากเดิมที่เราต้องฝากข้อมูลไว้กับบริษัทโชเชียลมีเดียหรือคลาวด์ แต่ในยุคของ Web 3.0 จะเปิดให้ทุกคนช่วยกันดูแลข้อมูล ส่วนตัวโดยมีเทคโนโลยี Blockchain เข้ามาจัดการด้านความปลอดภัยในเข้ารหัสที่ซับซ้อนของข้อมูลต่าง ๆ ที่จะมีเพียงเจ้าตัวผู้เข้ารหัสเท่านั้นที่ถือกุญแจเพื่อเข้าถึงข้อมูลนั้นได้

รากฐานความปลอดภัยของแนวคิด Web 3.0 นี้จะเปิดโอกาสให้เกิดเทคโนโลยีอื่น ๆ ตามมามากมายเช่น การจัดการสินทรัพย์ดิจิทัลเช่น Cryptocurrency อันเป็นสกุลเงินที่มีการแลกเปลี่ยนซื้อขายได้บนตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล ที่หลายคนต่างมองว่าจะนำมาสู่ยุคของการเงินแบบไร้ตัวกลาง (DeFi) ที่สามารถทำธุรกรรมได้โดยไม่ผ่านตัวกลางอย่างธนาคาร หรือแม้กระทั่ง NFT สินทรัพย์ดิจิทัลที่มีเพียงชิ้นเดียวในโลก รวมไปถึงการเข้าร่วมกับชุมชนบนโลกออนไลน์แบบเสมือนจริงโดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาแพล็ตฟอร์มอันใดอันหนึ่งอีกต่อไป อันเป็นที่มาของแนวคิด Metaverse ที่เราสามารถสร้างสภาพแวดล้อมของโลกแห่งความจริงผ่านประสบการณ์ดิจิทัล มีพื้นที่ให้ผู้คนเข้ามามีปฏิสัมพันธ์และทำกิจกรรมร่วมกันผ่านตัวตนที่เป็นอวตาร (Avatar) โดยสามารถทำทุกอย่างเช่น การทำธุรกรรม ทำงาน ซื้อของ เล่นเกม ไปเที่ยวกับกลุ่มเพื่อน และใช้ชีวิตเสมือนในโลกนั้นผ่านโลกออนไลน์ได้เลย และไม่ต้องกังวลเรื่องการถูกปลอมแปลงตัวตนบนโลกออนไลน์อย่างที่มักเกิดขึ้นในยุค Web 2.0 อีกต่อไป เมื่อเราแปลง ID ของเราเป็น NFT ตัวตนใน Metaverse ของเราก็จะมีเพียงหนึ่งเดียวและระบุที่มาที่ไปของตัวตนได้ชัดเจน

Web 3.0 และความฝันในการสร้าง Metaverse นั้นยังเป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่ต้องติดตามและพัฒนาต่อไป แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันจะสร้างโอกาสได้มากมายในการทำธุรกิจ หรือแม้แต่การสร้างนวัตกรรมเพื่อมวลมนุษยชาติเพื่อยกระดับการใช้ชีวิตของผู้คน ทำให้หลายฝ่ายต่างจับตามอง รอต่อยอด และหลายอุตสาหกรรมต่างเริ่มเตรียมความพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังมาถึง

ในแง่ของเทคนิค Web 3.0 ที่เหล่านักพัฒนาวาดฝันไว้นั้นจะแตกต่างจาก Web 2.0 อย่างก้าวกระโดด ลักษณะของ Web 2.0 นั้นเป็นระบบที่การสื่อสารแลกเปลี่ยนข้อมูลข้ามระบบหรืออุปกรณ์อื่นนั้นเป็นไม่ได้ (Non-Interoperable) แต่ Web 3.0 จะสามารถทำงานร่วมกันได้กับระบบที่แตกต่าง (Interoperable)

การจัดการข้อมูลดิจิทัลอันมากมายมหาศาลใน Web 3.0 นั้นต้องการระบบสืบค้นที่มีประสิทธิภาพเพื่อเรียกใช้ข้อมูลนั้นได้ทันท่วงทีและตรงความต้องการมากที่สุด นักพัฒนาคาดว่ารูปแบบการติดต่อสื่อสารใน Web 3.0 จะใช้เทคโนโลยี XML (Extensive Markup Language) RDF (Resource Description Framework) และ OWL (Web Ontology Language) ที่จะส่งผลให้เกิดนวัตกรรมการจัดระเบียบข้อมูล และการสืบค้นข้อมูลผ่านฐานข้อมูลขนาดใหญ่ได้อย่างรวดเร็วและตรงประเด็นมากขึ้น นำมาสู่ความสามารถในการประมวลผลข้อมูลในลักษณะที่มีความชาญฉลาดคล้ายมนุษย์ในรูปแบบของปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) ผ่านเทคโนโลยี เช่น Decentralized ledger technology (DLT) Machine Learning (ML) หรือ Big Data เป็นต้น

สำหรับนักพัฒนาแล้ว ลองมาดูการเขียนโค้ด Smart Contract ด้วยภาษา Solidity เพื่อสร้าง Token โดย ERC-20 ซึ่งจะเป็นมาตรฐานในการสร้าง Fungible Asset แต่ในส่วนของ Non Fungible Asset (NFT) นั้นจะใช้มาตรฐาน ERC-721 แทนได้ในรูปดังอย่าง ดังนี้