12 July 2024
ในช่วงปีที่ผ่านมา ชื่อของ
ChatGPT
กลายเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางขึ้นในวงการนักพัฒนาทั่วโลก
อันเป็นผลมาจากการพัฒนาของเทคโนโลยี AI
ที่ก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว ทำให้ AI
สามารถตอบคำถามที่ซับซ้อนและตอบโต้ได้มากกว่าแชทบอทที่เราเคยเจอมา
แทนที่จะถามคำตอบคำ หรือมาเป็นประโยคสั้น ๆ แบบที่เราถาม
Siri (แถมเจ้า Siri พอตอบไม่ได้ก็ไล่เราไปหาข้อมูลใน
browser ต่อซะงั้น) ซึ่ง ChatGPT ตอบได้มากกว่านั้น
แต่ ChatGPT
เองก็ไม่ใช่เทพเจ้ามาจุติที่สามารถเสกทุกอย่างได้ด้วยตัวเอง
ChatGPT เป็น AI ที่ถูกสร้างขึ้นมาบนโครงสร้าง LLM (Large
Language Model) ที่เรียกว่า GPT-3 (ที่กำลังพัฒนาสู่
GPT-4 เร็ว ๆ นี้) ซึ่งทำให้แชทบอทในรูป AI
มีความสามารถสื่อสารโต้ตอบโดยเรียบเรียงหรือสร้างสรรค์เนื้อหาที่แปลกใหม่และน่าสนใจและสามารถ
“คิด” การตอบสนองกับมนุษย์ได้อย่างเป็นธรรมชาติ ChatGPT
นั้นใช้ text input เป็นคำสั่ง prompt ทำให้ AI ทำงานออกมา
และเพื่อให้ AI สามารถเข้าใจคำสั่งของเราได้ตรงประเด็น
สิ่งนี้ต้องใช้ทักษะของนักพัฒนาที่เรียกว่า Prompt
Engineering
ต้องเข้าใจกันก่อนว่า Prompt
คือการป้อนคำสั่งแบบข้อความหรือประโยค (text input)
อธิบายสิ่งที่เราต้องการให้กับ AI
ยิ่งลงรายละเอียดเท่าไหร่ AI
ก็ยิ่งสามารถสร้างผลงานได้ละเอียดและตรงความต้องการได้มากขึ้นเท่านั้น
ซึ่งแน่นอนว่าการเขียน prompt นั้น
ผู้ป้อนคำสั่งต้องเข้าใจวิธีการทำงานพื้นฐานของ ChatGPT
พอสมควร และต้องจับ keyword ที่ต้องการได้จริง ๆ
และยังต้องใช้ระบบชื่อ Reinforcement Learning with Human
Feedback (RLHF) เพื่อให้ AI
เรียนรู้จากข้อเสนอแนะของมนุษย์ในการพัฒนาคำตอบของ ChatGPT
นั่นเอง แต่การที่จะให้ผู้ใช้ป้อน text input แบบใช้แต่
keyword ซึ่งดูยุ่งยาก นักพัฒนาจึงพยายามที่จะทำให้ prompt
นั้นทำงานง่ายขึ้น แม้จะพิมพ์มาเป็นประโยค ใช้ภาษาพูด AI
ก็ยังสามารถทำผลงานออกมาได้ตรงใจเรา
จึงเป็นที่มาของสิ่งที่เรียกว่า Prompt Engineering
ซึ่งเป็นคอนเซปต์ที่จะทำให้ผู้ใช้สื่อสารกับ AI
ได้อย่างตรงจุด และยังเป็นการพัฒนาให้ AI
สามารถประมวลผลภาษาตามธรรมชาติของมนุษย์ให้ AI เข้าใจได้
(Natural Language Processing - NLP) นั่นเอง
นี่จึงเป็นช่วงที่ AI
กำลังถูกพัฒนาให้เข้าใจโครงสร้างภาษาอันซับซ้อนของมนุษย์
ทักษะ Prompt Engineering
จึงเป็นทักษะสำคัญที่ช่วยให้ผู้ใช้สามารถป้อน prompt
เพื่อสื่อสารกับ AI ได้อย่างตรงจุด และจะช่วยให้ AI
เหล่านี้ค่อย ๆ ได้พัฒนาเรียนรู้ไปพร้อมกันนั่นเอง
โดยคาดการณ์กันว่าจนกว่า AI จะถูกพัฒนาให้มี NLP
อย่างสมบูรณ์แบบได้นั้น ทักษะ Prompt Engineering
จะเป็นที่ต้องการมากขึ้นเรื่อย ๆ
แล้ว Prompt Engineering จะนำมาทำงานร่วมกับ Generative AI
ได้อย่างไร? Generative AI ก็คือ AI ที่ใช้สร้างคอนเทนต์
โดยเฉพาะคอนเทนต์เชิงสร้างสรรค์ ซึ่งในช่วงหลัง ๆ
เราจะเห็นข่าวการใช้ AI วาดภาพศิลปะ เขียนนิยาย บทความ
สร้างมีเดีย
หรือแม้กระทั่งมันสามารถเขียนโค้ดโปรแกรมเบื้องต้นได้แล้ว
นอกจาก ChatGPT ที่โด่งดังแล้วยังมีเครื่องมือที่เป็น
Generative AI ที่กำลังได้รับความสนใจเช่น DALL-E-2 และ
Mid-journey
ที่สามารถสร้างสรรค์ภาพและงานศิลปะจากคำอธิบายของผู้ใช้
หรือ Jukebox
ที่สามารถแต่งทำนองเพลงขึ้นมาจากตัวอย่างเพลงได้
การเข้ามาของ Generative AI
จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในหลายสาขาอาชีพ
แม้จะมีข้อถกเถียงกันว่าสุดท้ายแล้วงานของ AI
ก็ยังไม่สามารถเทียบเคียงกับงานสร้างสรรค์ของมนุษย์ได้อยู่ดี
แต่หากวันหนึ่งที่ Prompt Engineering พัฒนาไปจนถึงขึ้นที่
AI สามารถเข้าใจภาษาของมนุษย์ได้มากขึ้น สามารถใช้ NLP
ได้เต็มประสิทธิภาพ
ไม่แน่ว่าถึงวันนั้นขีดจำกัดของการสร้างสรรค์ผลงานของมัน
จะทำให้แม้กระทั่งมนุษย์เองก็ “จับได้ยาก”
ว่าเป็นฝีมือของมนุษย์หรือ AI กันแน่